โลกและการเปลี่ยนแปลง



       จากการสังเกตภูมิประเทศที่แตกต่างกันบนผิวโลก ทำให้สรุปได้ว่า โลกประกอบด้วยสารที่เป็นทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ในรูปของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ บางชนิดมนุษย์สร้างขึ้น และบางชนิดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กัน
        การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายเผ่าพันธุ์บนโลกล้วนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยพึ่งพาสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และสิ่งที่ไม่มีชีวิตบนโลกด้วย จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์หรือกิจกรรมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ทฤษฎีกำเนิดของระบบสุริยะ
        นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับโลกของเรามานานนับล้านปีมาแล้ว พบว่า โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่อยู่ในระบบสุริยะ มีดวงอาทิตย์ในศูนย์กลางของระบบ
โลกอยู่ในระบบสุริยะ และระบบสุริยะอยู่ในกาแล็กซีที่ชื่อว่า ทางช้างเผือก ซึ่งกาแล็กซีนี้เป็นหนึ่งในล้านๆ กาแล็กซีที่อยู่ในท้องฟ้าอันกว้างใหญ่รวมเรียกว่า "จักรวาลหรือเอกภพ" (universe)


       นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาและพัฒนาทฤษฎีการกำเนิดระบบสุริยะ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการเกิดระบบสุริยะและโลก ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้เสนอทฤษฎีไว้ เช่น

         ทฤษฎีของคานท์และลาพลาส โดยนักดาราศาสตร์ชื่อ เอมมานูเอล คานท์ ชาวเยอรมัน และ ปีแอร์ ลาพลาส ชาวฝรั่งเศส เชื่อว่า "ระบบสุริยะเกิดจากกลุ่มก๊าซที่ร้อนจัดขนาดใหญ่ และหมุนรอบตัวเองจนเกิดแรงเหวี่ยงทำให้เกิดวงแหวนเป็นชั้นๆ ต่อมากลุ่มก๊าซบริเวณศูนย์กลางของวงแหวนรวมตัวกันกลายป็นดวงอาทิตย์ ส่วนวงแหวนกลายเป็นดาวเคราะห์และบริวาร"
ทฤษฎีของเจมส์ ยีนส์ มีใจความสรุปว่า "มีดาวฤกษ์ขนาดใหญ่เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาลระหว่างดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์จนมวลบางส่วนของดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์หลุดออกมากลายเป็นดาวเคราะห์ โลก และสิ่งอื่นๆ ในระบบสุริยะจักรวาล"
ทฤษฎีของเฟรด ฮอยล์ และฮานส์ อัลเฟน เป็นทฤษฎีที่อาศัยทฤษฎีของคานท์และลาพลาสประกอบกับหลักฐานจากการศึกษาปรากฏการณ์ท้องฟ้าเพิ่มเติม มีใจความสรุปว่า "ดวงอาทิตย์เกิดขึ้นก่อนจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองต่อมาดวงอาทิตย์เริ่มมีแสงสว่าง และยังคงมีกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองห้อมล้อมอยู่และหมุนไปรอบๆ ดวงอาทิตย์ ต่อมากลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองเหล่านี้จะถูกดึงดูดและอัดตัวแน่นขึ้นและรวมกันเป็นก้อนขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์"

โครงสร้างและส่วนประกอบของโลก
         จากการสังเกตสิ่งรอบตัวพบว่า ส่วนที่อยู่บนพื้นผิวโลกประกอบด้วย ดิน น้ำ และอากาศห่อหุ้มอยู่ จัดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต ส่วนที่อยู่ใต้โลกลึกลงไป ส่วนใหญ่จะเป็นของแข็ง ในรูปของดิน หิน แร่ ถ้าพิจารณาในระดับลึกลงไปอีก พบว่า โลกมีอุณหภูมิสูงมากจนถึงระดับหนึ่ง ทำให้ของแข็งอยู่ในสภาพหลอมละลายเป็นของเหลวหนืด
นักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลักษณะของโครงสร้างและส่วนประกอบของโลก ตั้งแต่ผิวดินลึกลงไปในถึงแก่นกลางของโลกและสร้างแบบจำลองแสดงลักษณะโครงสร้างไว้ ดังนี้

                             ภาพ : โครงสร้างโลก

          จากภาพแสดงโครงสร้างของโลก จะเห็นว่า โลกเป็นดาวเคราะห์หินที่ประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนที่เป็นดิน หิน แร่ หรือที่เรียกว่า ธรณีภาค ส่วนที่เป็นน้ำหรือ อุทกภาค ส่วนที่เป็นอากาศ หรือบรรยากาศ และส่วนที่เป็นสิ่งมีชีวิต หรือชีวภาค ระบบทั้ง 4 นี้สัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง เช่น ในชั้นบรรยากาศประกอบด้วยก๊าซต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต และยังมีหน้าที่ป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตในระบบชีวภาคดำรงอยู่ได้ เป็นต้น
        มนุษย์ใช้ทรัพยาการตางๆ ของโลกในปริมาณมาก และใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขอบเขตตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก จนดูเสมือนว่าทรัพยากรเหล่านี้จะหมดภายในช่วงเวลาอันใกล้ ดังนั้นในการใช้ทรัพยากรของโลกดังกล่าวควรใช้อย่างระมัดระวังใช้อย่างคุ้มค่า มีจิตสำนึกในการช่วยดูแลรักษา
ภาพ : แสดงความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ของโลก

ส่วนประกอบของโลก
     โลกเรามีรูปร่างเป็นทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ยาวประมาณ 12,711 กิโลเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีค่าประมาณ 12,755 กิโลเมตร ขณะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์นั้น แกนของโลกจะเอียงทำมุมประมาณ 23 องศา ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ นอกเขตร้อน ภาพแสดงแกนโลกเอียงประมาณ 23.5 องศา ทำให้เกิดฤดูกาล
โลกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ เปลือกโลก แมนเทิล และแก่นโลก แต่ละชั้นมีลักษณะสำคัญดังนี้
    เปลือกโลก (earth crust) เป็นชั้นที่อยู่นอกสุดของโลกมีความหนาน้อยที่สุดประมาณ 6-35 กิโลเมตร ประกอบด้วยแผ่นดินและแผ่นน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเปลือกโลกส่วนบนและเปลือกโลกส่วนล่าง
        เปลือกโลกส่วนบน เป็นส่วนนอกสุดประกอบด้วยชั้นดินและหินไซอัล (sial) ที่เป็นหินแกรนิต ส่วนใหญ่ประกอบด้วยซิลิกา (silica) และอลูมินา (alumina)

        เปลือกโลกส่วนล่าง เป็นส่วนที่เป็นมหาสมุทร ประกอบด้วยหินไซมา (sima) ที่เป็นหินบะซอลต์ ประกอบด้วยซิลิกา (silica) และแมกนีเซียม (magnesium)

    แมนเทิล (mantle) เป็นชั้นของโลกที่อยู่ลึกจากชั้นเปลือกโลก ประกอบด้วยหินและแร่หลายชนิด เช่น หินอัลตราเบสิก หินเพริโดไทต์ ซึ่งเป็นหินอัคนี และหินหลอมเหลวซึ่งเรียกว่า "หินหนืด" มีอุณหภูมิประมาณ 2,000 องศาเซลเซียส มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร
    แก่นโลก (core) อยู่ชั้นในสุดหรือเป็นแก่นกลางของโลก แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นแก่นโลกนอก เป็นชั้นของเหลวที่ร้อนจัด และแก่นโลกในเป็นชั้นของแข็ง ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิเกิล แก่นโลกมีความหนามากประมาณ 3,440 กิโลเมตร มีอุณหภูมิสูงประมาณ

5,000  องศาเซลเซียส
                         

                      ภาพ : แสดงส่วนประกอบของโลก

การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
       อัลเฟรด เวเจเนอร์ ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า เมื่อ 200 ล้านปีมาแล้วผิวโลกส่วนที่เป็นแผ่นดินยื่นพ้นน้ำขึ้นมานั้นมีเพียงส่วนเดียว เป็นทวีปเพียงทวีปเดียว เรียกว่า "พันเจีย" (pangaea) ต่อมาแผ่นดินได้มีการแยกออกเป็นส่วนๆ ดังเช่นในปัจจุบัน
      นักธรณีวิทยาเชื่อว่า แผ่นเปลือกโลกไม่ได้ติดเป็นแผ่นเดียวกัน เนื่องจากพบรอยแยกที่อยู่ลึกลงไปจากผิวโลก ทำให้เปลือกโลกถูกแบ่งออกเป็นแผ่นๆ ที่เรียกว่า "แผ่นเปลือกโลก" ดังนี้

         ระบบของแผ่นเปลือกโลก นักธรณีวิทยาแบ่งแผ่นเปลือกโลกออกเป็น 6 แผ่นใหญ่ และแผ่นขนาดเล็กมากมาย

    แผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีปเอเชียและยุโรปและพื้นน้ำบริเวณใกล้เคียง

    แผ่นแอฟริกา (African Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีปแอฟริกาและพื้นน้ำรอบทวีปนี้

    แผ่นแอนตาร์กติก (Antarctic Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีปแอนตาร์กติกและพื้นน้ำโดยรอบ

    แผ่นออสเตรเลีย (Australian Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีปออสเตรเลีย อินเดีย และพื้นน้ำระหว่างทวีปออสเตรเลีย

    แผ่นแปซิฟิก (Pacific Plate) เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับมหาสมุทรแปซิฟิก

    แผ่นอเมริกา (American Plate)
เป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับทวีปอเมริกาเหนือและใต้พื้นน้ำครึ่งซีกตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก

        สำหรับประเทศไทยนั้น อยู่ใน Indian - Australian Plate
แผ่นเปลือกโลกที่ว่านี้โดยมากจะประกอบด้วยส่วนที่เป็นแผ่นดินและมหาสมุทร แต่มีบางแผ่นที่ประกอบด้วยมหาสมุทรส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ได้แก่ Pacific Plate ที่ประกอบด้วยมหาสมุทรเสียเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางส่วนเล็กๆ ที่เป็นแผ่นดินคือทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาและเมืองบาจา (Baja) ในประเทศแมกซิโกส่วน Nazca Plate และ Juan de Plate นั้น เป็นมหาสมุทรล้วนๆ
ไม่มีแผ่นดินเลย

การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
     การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก (Deformation) แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
    การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนที่แบบรวดเร็วฉับพลัน (abrupt movements) มักเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง จนทำให้เปลือกโลกจมตัวลงเป็นบริเวณกว้าง หรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือเคลื่อนที่ออกจากกันในแนวราบทำให้เกิดลุ่มน้ำขัง (swamps) หรือทะเลสาป เช่น ที่ราบลุ่มในภาคเหนือของประเทศไทย หรือที่ราบลุ่มตอนกลางที่เรียกว่าที่ราบลุ่มเจ้าพระยาของไทย
    การเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนที่อย่างช้าๆ (slow movemants) แผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เช่น แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิคเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ 5 เซนติเมตร/ปี เฉลี่ยทั้งโลก 5-8 เซนติเมตร/ปี
การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก มีลักษณะการเคลื่อนที่ ดังนี้
    การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแยกออกจากกัน
    การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกเข้าชนกัน

สาเหตุของการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก   
     การเคลื่อนที่ของหินหนืด หินหนืดที่หลอมเหลวอยู่ในชั้นของแมนเทิลได้รับความร้อนจากแก่นโลกเกิดการเคลื่อนที่ไหลวนอย่างช้าๆ ส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกที่อยู่ในตำแหน่งของหินหนืดที่ไหลวนเกิดการเคลื่อนที่ช้าๆ ตามหินหนืดไปด้วย
      แรงดันของหินหนืดในชั้นแมนเทิล แผ่นเปลือกโลกแต่ละส่วนที่ผิวโลกมีความหนาแตกต่างกัน แผ่นเปลือกโลกส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทรมีความหนาน้อยกว่าแผ่นเปลือกโลกบนภาคพื้นทวีป ทำให้หินหนืดในชันแมนเทิลที่มีอุณหภูมิและความดันสูงสามารถแทรกตัวขึ้นมาตามรอยแยกระหว่างแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทร ทำให้แผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใต้มหาสมุทรถูกดันให้แยกห่างออกจากกัน และหินหนืดที่แทรกขึ้นมาจะกลายเป็นแนวหินใหม่


ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
    เกิดภูเขา เนื่องจากการชนกันทำให้เกิดแรงดัน แผ่นเปลือกโลกบางส่วนถูกแรงดันดันจนโค้งขึ้น กลายเป็นภูเขา เช่น การชนกันของแผ่นยูเรเซียกับแผ่นออสเตรเลีย แผ่นยูเรเซียถูกดันให้โค้งตัวขึ้นเป็นเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย
    แผ่นเปลือกโลกบางส่วนหายไป เมื่อมีการชนกันของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น แผ่นที่ 1 จะซ้อนอยู่บนด้านบน ส่วนอีกแผ่นหนึ่งจะมุดซ้อนอยู่ด้านล่าง ดังเช่น การชนกันของแผ่นยูเรเซียแผ่นออสเตรเลีย พบว่า แผ่นยูเรเซียที่ซ้อนอยู่ด้านบนจะดันให้โค้งตัวขึ้น ขณะเดียวกันแผ่นออสเตรเลียจะมุดซ้อนอยู่ด้านล่าง จึงทำให้เปลือกโลกบางส่วนของแผ่นออสเตรเลียหายไป เนื่องจากไปมุดอยู่ใต้แผ่นยูเรเซียลงไปถึงชั้นแมนเทิล และได้รับความร้อนจากแก่นโลกจึงหลอมเหลวเป็นหินหนืดอยู่ใต้เปลือกโลก
    การเกิดแผ่นดินไหว เมื่อแผ่นเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนที่แยกออกจากกัน เคลื่อนที่เข้าชนกันหรือเคลื่อนที่สวนทางกัน บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกจึงเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหว
     เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกอย่างฉับพลัน อันเนื่องมาจากการขยายตัวและหดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่แตกต่างกัน เปลือกโลกส่วนล่างจะขยายตัวได้มากกว่าเปลือกโลกส่วนบน เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงกว่า และอุณหภูมิเปลือกโลกส่วนบนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อรอบต่อของแผ่นเปลือกโลก โดยบางแห่งเคลื่อนที่ออกจากกัน บางแห่งเคลื่อนที่เข้าหากัน การชนกันหรือการแยกกันของรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น การทรุดตัว การเกิดการกระแทก ฉีกขาด และเกิดการเคลื่อนที่ตามแนวระดับไปยังบริเวณรอยต่อรอบๆ ในรูปของคลื่นที่เรียกว่า เกิดแผ่นดินไหว
      บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว บริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้มาก ได้แก่ บริเวณรอยต่อระหว่างเปลือกโลก เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจะมีโอกาสกระทบกระแทกได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ
เครื่องมือตรวจสอบแผ่นดินไหว เครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบแผ่นดินไหว เรียกว่า "ไซโมกราฟ" (seismograph) หน่วยที่ใช้วัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว คือ มาตราริกเตอร์และมาตราเมอแคลลี ในประเทศไทยใช้ มาตราริกเตอร์ ซึ่งในประเทศไทยเรามีสถานีตรวจแผ่นดินไหวทั้งหมด 7 แห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา
      ผลกระทบจากการเกิดแผ่นกินไหว ถ้าเปลือกโลกเกิดการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จะมีผลต่ออาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเกิดพังทลาย เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น การเกิดคลื่นสึนามิที่ร้ายแรงในปีที่ผ่านมา หรือดังที่เราได้ทราบจากข่าวต่างประเทศอยู่เสมอ

ภูเขาไฟ
     ภูเขาไฟเกิดจากหินหนืดในชั้นแมนเทิลซึ่งอยู่ภายใต้โลกที่เรียกว่า "แมกมา" มีอุณหภูมิและความดันสูงมาก พยายามดันขึ้นมาตามรอยแตกและแทรกตัวขึ้นมาสู่ผิวโลก โดยมีแรงปะทุหรือระเบิดเกิดขึ้น ทำให้หินหนืดไหลออกมาสู่ผิวโลกที่เรียกว่า "ลาวา" ไหลบ่าจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
        สิ่งที่พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟนอกจากลาวาแล้ว ยังมีเถ้าถ่าน ฝุ่นละออง ไอน้ำ เศษหิน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจน และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
        บริเวณที่เกิดภูเขาไฟ ภูเขาไฟมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากในบริเวณแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก โดยเฉพาะบริเวณที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกลงไปใต้พื้นมหาสมุทร เนื่องจากถูกหลอมเหลวด้วยความร้อนจากแก่นโลกให้เป็นหินหนืด ทำให้หินหนืดแทรกตัวขึ้นมาได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น
       บริเวณที่ห่างจากรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกก็มีโอกาสเกิดภูเขาไฟได้ โดยการดันของหินหนืดที่มีอุณหภูมิและความดันสูงออกมาตามรอยแยกของผิวโลก
       การระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไทย นักธรณีวิทยาพบว่า เมื่อประมาณล้านปีมาแล้วประเทศไทยเคยภูเขาไฟระเบิดเช่นกันที่จังหวัดลำปางและจังหวัดบุรีรัมย์ เคยมีหินหนืดดันแทรกตัวขึ้นมาตามรอยแยกของชั้นหิน แต่การระเบิดไม่รุนแรง
      ลักษณะก่อนภูเขาไฟระเบิด นักธรณีวิทยาพบว่า ก่อนภูเขาไฟระเบิดจะเกิดแผ่นดินไหวก่อนเสมอ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของหินหนืดที่มีความดันและอุณหภูมิสูงใต้ผิวโลกพยายามแทรกตัวขึ้นมาตามรอยแยกสู่ผิวโลก


ภายหลังภูเขาไฟระเบิด
     ลาวาไหลบ่าลงมาสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
    เกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากการปรับตัวของชั้นหินหนืดใต้ผิวโลกกับบริเวณใกล้เคียง
    เกิดแอ่งภูเขาไฟเนื่องจากภายหลังการระเบิดจะเกิดการยุบตัวของยอดภูเขาไฟแทนที่หินหนืดที่ไหลออกไป
 



  ภาพแสดงรูปแบบและลักษณะการเกิดภูเขาไฟภูเขา

การเกิดภูเขา เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และใช้เวลานานมาก ซึ่งมีสาเหตุดังนี้
    เกิดการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
    เกิดจากการยกตัวขึ้นของทวีป
    เกิดจากการดันตัวของหินหนืดใต้ผิวโลก
    เกิดจากผิวโลกเกิดแรงบีบอัดจนโค้งงอ
    เกิดจากการสึกกร่อนของผิวโลกที่แตกต่างกัน

การกร่อนของเปลือกโลก
การกร่อน เป็นกระบวนการที่ทำให้สารที่เป็นองค์ประกอบของเปลือกโลกหลุดออกหรือสลายตัวไปจากผิวโลก เช่น กระแสน้ำกัดเซาะเปลือกโลกให้พังทลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พัดพาให้เคลื่อนไปตามแนวทางน้ำไหล เมื่อฝนตกน้ำไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกเกิดการกัดเซาะผิวหน้าดิน แล้วพัดพาไปทับถมภูมิประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนมีดังนี้
   1.การกร่อนของเปลือกโลกเนื่องจากกระแสน้ำ การกัดเซาะของกระแสน้ำเกิดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ซึ่งมีผลทำให้เปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
   2.การกร่อนของเปลือกโลกเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี เกิดจากน้ำฝนละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศ ทำให้เกิดฝนกรดไปกัดกร่อนเปลือกโลกให้ผุพัง
    3. การกัดกร่อนเปลือกโลกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ทำให้เกิดการกัดกร่อนของเปลือกโลกได้ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศทำให้เปลือกโลกเกิดการขยายตัวและหดตัว ถ้าการขยายตัวของหินชั้นในกับหินชั้นนอกไม่เท่ากันอาจทำให้หินเกิดการแตกร้าวได้ และในบางครั้งน้ำในโพรงก้อนหินกลายเป็นน้ำแข็ง อาจทำให้เกิดการขยายตัวดันให้ก้อนหินแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้
    4. การกัดกร่อนเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก ในธรรมชาติแรงโน้มถ่วงของโลกจะพยายามดึงดูดสิ่งต่างๆ ให้ตกลงสู่พื้นผิวโลก และดึงดูดวัตถุให้เกิดการเคลื่อนที่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกว่า เรียกว่า "ธารน้ำแข็ง" ขณะเคลื่อนที่ก้อนน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่และมีมวลมากจะกระแทกและขัดสีกับก้อนหินในลำธาร ทำให้เปลือกโลกเกิดการกัดกร่อนได้
    5. การกัดกร่อนเนื่องจากกระแสลม เช่น บริเวณที่ราบสูง ทะเลทราย ภูเขาสูงซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสลมเป็นประจำ กระแสลมจะทำให้เปลือกโลกเกิดการกัดกร่อนได้เช่นกัน


      การกัดกร่อน การพัดพา และการทับถมของตะกอน เนื่องจากกระแสน้ำอธิบายได้ว่าการกร่อนจะเกิดขึ้นอยู่กับความชันของท้องน้ำ ความแรงของกระแสน้ำ และความคดเคี้ยวของชายฝั่ง กล่าว คือ ถ้าท้องน้ำมีความชันมาก และกระแสน้ำไหลแรงจะทำให้ชายฝั่งเกิดการกร่อนมาก
    -การพัดพาของตะกอนที่มีขนาดเล็กจะไปได้ไกลกว่าตะกอนที่มีขนาดใหญ่
    -การทับถมของตะกอนจะเกิดทางด้านปลายน้ำมากกว่าทางด้านต้นน้ำ

จากภาพ กระแสน้ำไหลตามลูกศรจากซ้ายไปขวา เริ่มจากลูกศรหมายเลข 1 กระแสน้ำพุ่งปะทะชายฝั่ง ก ทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะพังทลาย ตะกอนถูกพัดพาไป กระแสน้ำจากลูกศรหมายเลข 2 พุ่งปะทะชายฝั่ง ค ทำให้ถูกกัดเซาะเช่นเดียวกัน แต่ตะกอนที่ถูกพัดพามาเมื่อถึงบริเวณที่กระแสน้ำไหลอ่อนลง จะเกิดตะกอนทับถมในบริเวณนั้น บริเวณ ข และ ง กระแสน้ำจะไหลอ่อนกว่าบริเวณ ก และ ค ดังนั้นตะกอนจึงทับถม ณ บริเวณ ข และ ง ทำให้เกิดแผ่นดินยื่นออกมา

การพัดพาและการทับถม
ตะกอนที่เกิดจากการสึกกร่อนผุพัง ด้วยอิทธิพลของกระแสน้ำ ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน และกระแสลมจะถูกพัดพาไปด้วยความแรงของกระแสน้ำหรือกระแสลม เมื่อความแรงลดลงจะเกิดการทับถมของตะกอนที่พัดพามา
การเกิดการทับถมของตะกอน ตะกอนจะทับถมกันเป็นชั้นๆ ตะกอนที่มีขนาดใหญ่จะถูกพัดพาไปตกที่ใกล้ ส่วนตะกอนที่มีขนาดเล็กจะถูกพัดพาไปตกที่ไกล การทับถมของตะกอนมีลักษณะแตกต่างกันไปตามลักษณะของภูมิประเทศและกระแสน้ำที่พัดผ่าน ดังนี้
    การทับถมของตะกอนรูปพัด เกิดจากกระแสน้ำไหลจากภูเขาตกลงสู่ที่ราบต่ำกว่า มีร่องน้ำ ขนาดใหญ่กว่าร่องน้ำเดิมมาก ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนรูปพัด
    การทับถมของตะกอนรูปดินดอนสามเหลี่ยม เกิดจากการทับถมของตะกอนที่บริเวณปากแม่น้ำ เป็นรูปสามเหลี่ยม เนื่องจากกระแสน้ำบริเวณปากแม่น้ำเคลื่อนที่ช้าลง จึงเกิดการทับถมของตะกอนอยู่ตลอดเวลา




ตัวอย่างประกอบ การทับถมของตะกอนรูปพัด และการทับถมของตะกอนรูปดินดอนสามเหลี่ยม
 

ที่มาข้อมูล :
- http://www.myfirstbrain.com
-หนังสือแบบเรียนวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (สสวท) กระทรวงศึกษาธิการ
- คู่มือครูสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (สสวท) กระทรวงศึกษาธิการ